มองโลกในแง่ลบ

คุณรู้สึกตื่นเต้นยินดี มีความกระตือรือร้นหรือไม่? เวลาที่ได้รับเลือก ให้เข้าสัมภาษณ์ ตำแหน่งในฝัน

หรือภาพที่คุณถูกปฏิเสธ ไม่รับเข้าทำงาน ภาพความล้มเหลว ที่ทำให้คุณตีตนไปก่อนไข้ จนทำให้คุณรู้สึกหม่นหมอง สิ่งเหล่านี้ได้ผุดขึ้นมา ในหัวของคุณทันทีหรือไม่ ความนับถือตนเอง และความมั่นใจ กำลังถูกทำลาย ให้พังพินาจไปอีกครั้ง ไม่เพียงแค่ว่า เหตุการณ์สำคัญ ที่เกิดขึ้นมาในชีวิตเท่านั้น

ในคนบางกลุ่ม วิตกกังวลหรือหวาดกลัว สิ่งรอบตัวจนเกินกว่าเหตุ ไม่ว่าจะเป็นการไม่ตอบแชท หรือข้อความของเพื่อน หรือคนสนิทในทันทีทันใด จนทำให้ตัวเองนั้นคิดไปว่า ผู้รับข้อความปลายทางนั้น โกรธตัวเอง เพราะได้ไปทำอะไรผิดมาแน่ๆ หรือไม่ก็ การได้รับฟังข่าวสาร เกี่ยวกับเศษฐกิจ โรคระบาด จนทำให้ตัวเองเกิดการฟุ้งซ่าน เกิดอาการนอนไม่หลับ

หากว่าคุณนั้น เคยได้มีประสบการณ์ หรือเคยสัมผัสกับสิ่งข้างต้นที่ได้กล่าวมา นั่นหมายความว่า สภาพจิตใจของคุณนั้น อาจเข้สสู่สภาพ “มองโลกเป็นหายนะ” (Catastrophising) ซึ่งอาการนี้ก็คือ พฤติดกรรมทางจิต ที่มองทุกสิ่งทุกอย่าง ในด้านลบไปหมดจนเป็นนิสัย มักจะมองโลกในแง่ร้าย ประเมิณความเสี่ยง กับสิ่งที่จะเกิดขึ้นแย่สูงเกินจากความเป็นจริง

ดร. แพทริก คีแลน นักจิตวิทยา และนักจิตบำบัดชาวแคนาดา อธิบายถึงสภาพจิตใจที่คอย แต่จะมองโลกเป็นหายนะว่า “นี่เป็นวิธีการคิดในเชิงลบที่จะเลวร้ายย่ำแย่ลงเรื่อย ๆ ทำให้เกิดความเครียดและอารมณ์รุนแรงท่วมท้น จนไม่อาจจะจัดการได้อีกต่อไป ส่งผลบั่นทอนสุขภาพจิตและทำให้อาการเจ็บปวดเรื้อรังทางกายหนักขึ้น”

มองโลกในแง่ลบ
วิธีบำบัดจิตนอกแนวทาง “ซิกมันด์ ฟรอยด์”

ความรู้ความเข้าใจเรื่องการมองโลกเป็นหายนะของนักจิตวิทยาในปัจจุบัน มาจากการถือกำเนิดขึ้นของแนวทางจิตบำบัดที่เรียกว่า “การบำบัดเชิงพฤติกรรมการคิด” (Cognitive Behavioral Therapy) ในช่วงกลางศตวรรษที่ 20 ซึ่งต่างจากแนวทางจิตบำบัดกระแสหลักของซิกมันด์ ฟรอยด์ ที่มีมาก่อนหน้านั้น

แทนที่จะใช้วิธีขุดคุ้ยหาปมความกลัวและความปรารถนาเร้นลับ ที่ถูกเก็บกดซ่อนไว้ในจิตใต้สำนึกตั้งแต่วัยเด็ก เพื่อที่จะรักษาอาการป่วยทางใจตามแนวทางของฟรอยด์ นักจิตบำบัดอย่างอัลเบิร์ต เอลลิส และแอรอน เบ็ก หันไปให้ความสนใจกับกระบวนการคิดขณะมีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ของผู้คนมากขึ้น

พวกเขามองว่า “การบิดเบือนทางความคิด” (cognitive distortion) หรือการมีวิธีคิดที่ไม่สมเหตุสมผลและไม่ตรงกับความเป็นจริง คือสาเหตุสำคัญของการ “มองโลกเป็นหายนะ” ที่ทำให้เกิดความเครียดรุนแรงและอาการผิดปกติทางจิตชนิดต่างๆ ได้ ตัวอย่างเช่นคนที่มีอาการ “โฟเบีย” (phobia) หรือหวาดกลัวจนเกินจริงต่อสิ่งต่างๆ อย่างไร้เหตุผล

จะตีความว่าการสั่นสะเทือนเล็กน้อย ในห้องโดยสารของเครื่องบิน คือสัญญาณบ่งชี้ถึงเครื่องยนต์ที่เริ่มทำงานล้มเหลว และเครื่องบินกำลังจะตกในไม่ช้า ทั้งที่การสั่นของเครื่องบินดังกล่าว เป็นเรื่องปกติ และไม่มีลูกเรือคนใด แสดงอาการตื่นตระหนกเลยแม้แต่น้อย งานวิจัยใหม่ๆ ต่างชี้ว่า วิธีคิดแบบมองทุกสิ่งเป็นหายนะสามารถนำไปสู่อาการทางจิต และความผิดปกติ ทางพฤติกรรมได้หลายแบบ

ไม่ว่าจะเป็นภาวะวิตกกังวล และย้ำคิดย้ำทำอย่างรุนแรง เช่นพนักงานที่ทำผิดพลาดไปเพียงเล็กน้อย แต่กลับหวาดกลัวว่าจะถูกไล่ออกอยู่ตลอดเวลา ท้ายที่สุดแล้วก็ไม่สามารถทำงาน ในหน้าที่ได้อีกต่อไป นอกจากนี้ การคิดลบแบบเกินจริง ยังส่งผลต่ออาการทางกาย ซึ่งมักเกิดขึ้นจากความหวาดกลัว ในเบื้องต้น โดยขยายผลให้เจ็บปวด

และรุนแรงขึ้นได้ เช่นคนที่รู้สึกประหม่าจนใจเต้นแรง เพราะกำลังจะนำเสนอรายงานต่อที่ประชุม หากเป็นคนกลุ่มที่มองโลกเป็นหายนะแล้ว ก็จะตีความว่าตนกำลังจะหัวใจวาย ซึ่งทำให้สถานการณ์แย่ลงเหมือนราดน้ำมันลงในกองไฟ และนำไปสู่อาการแพนิก (panick attack) หรือโรคตื่นตระหนกอย่างเต็มรูปแบบได้

โรคติดต่อทางอารมณ์

มีหลายปัจจัยที่ช่วยอธิบายว่า ทำไมบางคนจึงมีแนวโน้ม จะมองโลกเป็นหายนะได้สูงกว่าคนอื่น เช่นคนที่มีบุคลิกภาพแบบวิตกจริต (neuroticism) มีความเสี่ยงที่จะเกิดความคิดบิดเบือนเกินจริงได้ ซึ่งบุคลิกภาพแบบนี้อาจมีที่มาทางกรรมพันธุ์ หรือได้รับการปลูกฝังจากคนใกล้ชิดในวัยเด็ก โดยการมีพ่อแม่ที่มองโลกในแง่ร้ายสุดขั้ว จะทำให้ลูกเติบโตขึ้นมามีโลกทัศน์ในแบบเดียวกัน

นอกจากนี้ ระดับความเครียด และความรู้สึกไม่มั่นคงปลอดภัยที่มีสะสมอยู่สูงในประชากรโลกปัจจุบัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งระหว่างการระบาดใหญ่ของโรคโควิด-19 ที่นำไปสู่ความปั่นป่วนวุ่นวายของสังคมและภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ ทำให้ความเครียดในเรื่องอื่น ๆ ที่ผ่านเข้ามาในชีวิต กลายเป็นฟางเส้นสุดท้ายที่กระตุ้นให้เกิดสภาพจิตใจแบบมองโลกเป็นหายนะได้ง่าย

การรับข่าวสารต่างๆ จากทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ทำให้คนเราต้องใช้ชีวิตอยู่ท่ามกลางกระแสข่าวร้าย ไม่ว่าจะเป็นข่าวสงคราม โรคระบาด หรือโศกนาฎกรรมอื่น ๆ ที่ทำให้ “จิตตก” อยู่เกือบตลอดเวลา ส่งผลให้มีพฤติกรรมคิดลบกันมากขึ้นและหนักขึ้น งานวิจัยของมหาวิทยาลัยซัสเซกซ์ในสหราชอาณาจักร

พบว่าการเสพข่าวร้าย สามารถทำให้คนเราวิตกกังวลเพิ่มขึ้น จนถึงขั้นมีสภาพจิตใจแบบมองโลกเป็นหายนะได้ ซึ่งแสดงว่าการเสพข่าวสารมีอิทธิพลสำคัญต่ออารมณ์ของคนเราในระยะยาว

ทำลายวงจรความคิดลบ

อย่างไรก็ตามนักจิตวิทยารุ่นใหม่มองว่า เราสามารถทำลายวงจร ของการวนเวียนคิดลบแบบสุดขั้วนี้ได้ด้วยการมีสติรู้ตัว ดร. คีแลนบอกว่าการมีสติยั้งคิดนั้นเป็นสิ่งสำคัญมาก เพราะจะช่วยหยุดความคิดแบบด่วนสรุปที่ว่าไม่อาจหลีกเลี่ยงหายนะได้ลงในทันที หลังจากนั้นก็ให้หันมาตั้งคำถาม อย่างเป็นธรรมกับตัวเองว่า “ฉันกำลังจะล้มเหลวจริงหรือ”

ดร. คีแลนแนะนำให้คนที่เริ่มมองโลกแบบหายนะ เปลี่ยนวิธีคิดและมุมมอง ต่อสถานการณ์เสียใหม่ ในแบบที่สามารถตั้งคำถาม ประเมินสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างเป็นกลาง และสมดุลในทุกแง่มุม เช่นเดียวกับการวิเคราะห์แบบภววิสัย (objective) จากบุคคลภายนอก โดยใช้หลักฐานแวดล้อมที่มีอยู่จริงมากกว่าจินตนาการ

หากคุณหวาดกลัวการสัมภาษณ์งาน ที่กำลังจะมาถึง และเริ่มคิดแบบปักใจ ว่าจะต้องทำพลาดจนไม่ได้งานในฝันเป็นแน่ ในกรณีนี้ให้ตั้งคำถามว่า มีเหตุผลอะไรบ้างที่จะทำให้คุณสอบตก การสัมภาษณ์โดยอัตโนมัติ ซึ่งหลังจากคิดทบทวน โดยละเอียดอย่างเป็นกลางแล้ว คุณจะพบว่าความล้มเหลวนั้นเป็นเพียงสิ่งหนึ่งที่เป็นไปได้ แต่ไม่ใช่ชะตากรรมที่ถูกกำหนดไว้ อย่างแน่นอนล่วงหน้า

แม้การเปลี่ยนพฤติกรรมการคิดจะไม่ใช่เรื่องง่าย แต่การฝึกฝนอย่างค่อย เป็นค่อยไปจะส่งผลดีในที่สุด “การทำเช่นนี้จะช่วยลดความเครียดและความวิตกกังวลที่พุ่งสูง ให้ลงมาอยู่ในระดับที่บริหารควบคุมได้” ดร. คีแลนกล่าวทิ้งท้าย

ขอบคุณ แหล่งที่มา : bbc.com

สามารถอัพเดต ข่าวสารเรื่องราวต่างๆ ได้ที่ : zazourestaurant.com